Reflection การสร้างนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์

ปัจจุบันคำว่า “นวัตกรรม” เป็นที่แพร่หลายอย่างมากในทุก ๆ วงการสายอาชีพ อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจถึงนิยาม ความหมาย หรือจะรู้ว่าควรจะเริ่มต้นหรือมีแนวคิดอย่างไรหากต้องการจะสร้าง “นวัตกรรม” ได้

อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยรายวิชา PIL 2 ได้เปิดโอกาสให้ได้รับฟังแนวคิดและประสบการณ์ เกี่ยวกับการสร้างผลงานและนวัตกรรม รวมถึงแนวคิดต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ ผู้เขียนจึงนำมาสรุปเรื่องราวและใจความสำคัญต่างๆ ที่ได้รับมาจากการฟังในแต่ละหัวข้อต่อจากนี้

หัวข้อที่ 1 นวัตกรรมการวิจัย และ เทคนิคการ pitching

โดย ศ.ภญ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์

สิ่งสำคัญที่ต้องมีในการสร้างนวัตกรรมคือการมีความรู้ที่กว้าง รวมถึงมีความเชี่ยวชาญจากหลายๆ สาขาร่วมกันทั้งในแง่ของความรู้ทางวิชาการ การโฆษณา และความรู้ทางด้านวิศวกรรมการผลิต ดังเช่นตัวอย่างว่าหากเภสัชกรมองหม่อนไหมก็จะนึกออกเพียงการนำไปทำเป็นยา แต่หากเป็นมุมมองวิศวกรเคมีก็อาจมองในมุมของการนำไปผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน ทำให้เกิดมุมมองร่วมกันที่กว้างขวางมากขึ้นและแลกเปลี่ยนเป็นความรู้ที่สนใจได้

การจะเริ่มต้นทำนวัตกรรมได้จะต้องเริ่มมาจากการสังเกตุสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน และสามารถจับปัญหาได้ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เลือกมาวิจัยนั้น จะต้องเป็นปัญหาที่มี impact ต่อท้องตลาด รวมถึงมีความสามารถที่จะยกระดับขึ้นไปในระบบการผลิต และ ขึ้นในระดับ marketing ได้ เนื่องจากไม่ใช่ทุกงานวิจัยพัฒนาที่จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ผลิตทำต่อได้ แม้ว่าผู้ผลิตจะมีกำลังซื้อสิทธิบัตรไปผลิต แต่ตัวผู้ผลิตอาจไม่มีกำลังพอที่จะผลิตได้ตามเงื่อนไขที่ต้องทำตามเพื่อรักษาคุณภาพเช่นกัน รวมถึงผู้รับผลิตควรจะมีฝ่ายวิจัยและพัฒนาของตนเองเนื่องจากหากไม่มีการพัฒนาสิ่งที่ผลิตก็อาจตกยุคได้ทุกเวลา อย่างไรก็ตามผู้วิจัยสามารถที่จะใช้การจ้างให้ผลิตแทนการรอให้ผู้ผลิตมารับซื้อสิทธิบัตรไปเองก็ได้ แต่จะต้องระวังในเรื่องของการถูกขโมยผลงานไปผลิตตามด้ว เพื่อป้องกันการถูกลอกเลียนแบบ เราสามารถที่จะจดสิทธิบัตรได้ทั้งตัวงานวิจัย หรือแม้แต่ process การผลิตได้ เพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เร็ว ทำเงินได้เร็ว แต่ก็ตกยุคได้เร็วมากเช่นกัน การวางแผนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นด้วย โดนการเริ่มต้นนั้นเราควรมองในสิ่งที่เรามีองค์ความรู้แน่ชัดและสามารถทำได้เอง โดยจะต้องเพิ่มเติมในส่วนของความแตกต่าง ราคาที่สมเหตุสมผล และความต้องการของตลาด เพื่อให้นวัตกรรมที่ผลิตขึ้นมานั้นสามารถมีจุดยืนในสังคมและเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้จะต้องมีความเข้าใจถึงจุดแข็งและนำเสนอออกมาให้ได้มากที่สุด รวมถึงรู้จักจุดอ่อนและเก็บเอาไว้ได้

ท้ายที่สุดคือการ pitching หรือก็คือการนำเสนอในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงตัวนวัตกรรมได้เร็วที่สุดเนื่องจากนวัตกรรมอาจะถูกคนอื่นคิดสิ่งที่ดีกว่าได้ในอีกไม่นาน เทคนิกในส่วนนี้จึงต้องอาศัยการฝึกฝน โดยเน้นถึงการมองผู้ฟังว่ายังไม่รู้อะไรเลย และอธิบายให้ตรงถึงสิ่งที่อยากจะนำเสนอให้มากที่สุด โดยไม่ใช้ศัพท์ทางเทคนิค นำเสนอถึงความแตกต่างกับสิ่งที่อยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน และท้ายที่สุดคือการบอกถึงความเสี่ยงของนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาด้วย

หัวข้อที่ 2 Herbal innovation for PM 2.5 protection

โดย ศ.รตอ.หญิง.ภก.ดร. สุชาดา สุขหร่อง

ในส่วนนี้เป็นนวัตกรรมการกำจัดฝุ่น PM 2.5 ของโครงการที่ชื่อว่า Phyphoon โดยอาจารย์ได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นว่า “การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเกิดจากการลงแรง”

แนวคิดในโครงการนี้เริ่มต้นจากการเล็งเห็นว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นมาทุกปีเหมือนกับเป็นฤดูกาล รวมถึงเป็นปัญหาในระดับประเทศจึงมีความคุ้มค่ากับการจะนำมาแก้ปัญหา เนื่องจากจะมี impact ต่อสังคมและเศรษฐกิจมาก และด้วยมุมมองของอาจารย์ผู้เป็นเภสัชกรที่ได้มีจินตนาการว่าฝุ่นที่ล่องลอยในอากาศก็เปรียบเสมือน colloid ที่ลอยตัวในยาลดกรด ซึ่งเราก็ควรที่จะทำให้มันตกตะกอนได้ด้วยสารเหนียวบางอย่างได้เช่นกัน

แม้ว่าจินตนาการกับการจับปัญหาจะเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการเริ่มต้น แต่การที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริงก็นับว่าเป็นโจทย์ที่ยากเช่นกัน โดยในที่นี้อาจารย์ได้ติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝุ่นเพื่อขอความร่วมมือในการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น อีกทั้งการออกแบบสูตรของสเปรย์จับฝุ่นก็ยังต้องอาศัยอการร่วมมือของอาจารย์ของเภสัชศาสตร์อีกหลายๆ สาขา เพื่อค้นหาสูตรที่มีประสิทธิภาพที่ต้องการมากที่สุด

อย่างไรก็ตามการที่จะพิสูจน์ว่าสูตรที่ดีที่สุดนั้นใช้ได้จริงก็เป็นเรื่องท้าทาย ในส่วนนี้อาจารย์ได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในการพิสูจน์ค่า เนื่องจากหากใช้ความได้เปรียบในส่วนนี้ก็จะถูกลอกเลียนแบบได้ยาก สำหรับโครงการนี้ก็ได้มีการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในการดูประสิทธิภาพในการตรวจดูฝุ่นที่จับได้ รวมถึงมีการขอความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์จุฬาในการใช้เครื่องชั่งน้ำหนักความละเอียดสูงร่วมด้วย จนกระทั่งได้สูตรของน้ำยาสเปรย์กำจัด PM 2.5 ที่มีความสามารถในการดักจับฝุ่นได้ถึง 80% ในพื้นที่ปิด

นอกจากในขั้นตอนของการวิจัยแล้วการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความได้เปรียบในการ pitching ก็มีความสำคัญ โดยอาจารย์ได้ทำการยื่นขอ CU proved ซึ่งเป็น brand ของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าได้ผ่านการทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัย อีกทั้งจะต้องมีความเข้าใจถึงจุดแข็งเมื่อเทียบกับสินค้าที่ทำหน้าที่แบบเดียวกันได้เพื่อสร้างมูลค่า และเข้าใจถึงผู้ฟังการ pitching ว่าเป็นคนกลุ่มไหน ต้องการอะไร อย่างไรก็ตามหลักของการขายสิทธิบัตรไม่ใช่เพียงแค่ใครเงินหนาสุดคนนั้นได้ แต่จะต้องดูถึงทัศนคติของผู้รับซื้อด้วย เนื่องจากคนบางกลุ่มอาจซื้อไปแต่ไม่ได้เอาไปทำอะไรต่อ

ท้ายที่สุดแล้วรายได้ที่ได้กลับมาก็ย่อมมีวันหมดลงหากนำมาแค่สานต่อจากโครงการเดิม ดังนั้นการบริหารจะต้องมองหาโอกาสในการพัฒนาและขยายผลอยู่เสมอ ดังเช่นโครงการ Phyphoon แม้จะเริ่มจากการใช้ในพื้นที่ปิด ก็มีการขยับไปใช้กับพื้นที่กึ่งปิดอย่างร้านอาหารที่มีระเบียง หรือแม้แต่การร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ในการขยายผลเช่นการใช้โดรนในการพ่นสเปรย์ในพื้นที่กว้างจากการร่วมมือของบริษัทย่อยในเครือ ปตท. ร่วมกับการคำนวณกลศาสตร์ของไหลในพื้นที่กว้างอากาศปิดเพื่อใช้เป็นสถานที่ทดสอบ ทำให้ขยายผลต่อจากสิ่งเดิมที่ทำได้ หรือแม้แต่การทำ product ใหม่ๆ เพื่อหาช่องทางรายได้อื่น เช่น การลดฝุ่นในห้องด้วยการเลี้ยงต้นไม้ซึ่งได้จากองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ หรือ การใช้สเปรย์เพื่อกำจัดเชื้อไวรัส covid 19

หัวข้อที่ 3 Vaccine for Covid 19

โดย รศ.ดร. วรัญญู พูลเจริญ และ พี่ตอง

ในส่วนนี้จะเป็นการเล่าถึงประสบการณ์ในการทำ start up ของบริษัท Baiya phytopharm โดยพี่ตอง ซึ่งเป็น Co-founder จะเป็นผู้บรรยายหลักในส่วนนี้

Start up คือการรวมตัวกันทำงานของคนกลุ่มเล็กๆ โดยตั้งเป้าที่จะเป็น unicorn หรือก็คือการกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง อย่างไรก็ตามทางสถิติแล้วมี start up ถึง 92% ที่ต้องปิดตัวลงไปภายใน 3 ปีแรก

ประสบการณ์ในปีแรกจะเป็นการทำ sandbox ซึ่งเป็นการทดลองดำเนินการโดยให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยมีคนในบริษัทเพียง 5 คน เป็น Co-founder 2 คน และพนักงาน 3 คน ในรูปแบบของการทำ molecular farming เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งด้วยเหตุที่มีคนน้อยตัวพี่ตองเองจึงต้องทำหลายๆ หน้าที่ทั้งการคุยกับลูกค้า การคุมการผลิต รวมไปถึงการออกใบเสนอราคา การกล้าที่จะลงมือ การไม่กลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้บริษัทเดินต่อไปได้

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีทั้งนักวิจัย นักบัญชี เภสัชกร และตำแหน่งอื่นๆ มาเพิ่มเรื่อยๆ จนมีคนในบริษัทถึงกว่า 40 คน อีกทั้งในช่วงโควิดระบาดก็ได้มีโครงการที่จะทำวัคซีนประเภท protein subunit ซึ่งก็ได้ออกแบบแอนติบอดี้ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วภายหลังทราบ sequence ของสารพันธุกรรมในไวรัส เนื่องจากมีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญมาร่วมทีมด้วย แต่ตัวบริษัทเองก็ไม่ได้ทำทุกขั้นตอนเองหมด การอาศัยความร่วมมือจากภายนอกที่เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ มาร่วมงานจะทำให้งานไปได้เร็วและดีกว่า ถึงแม้ว่าการเล่าเรื่องจะดูเป็นไปได้ดี แต่พี่ตองก็ยังย้ำถึงความล้มเหลวที่ดกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนที่ก็ต้อวผ่านมาหลายครั้งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้

หัวข้อที่ 4 Innovative herbal material protein platform

โดย รศ.ดร. สรกนก วิมลมั่งคั่ง

การจะทำนวัตกรรมได้จะต้องเริ่มจากการงิจัยและพัฒนาที่ดี จึงจะสามารถยกระดับไปในขั้นของการ production และ marketing ได้ โดยแนวคิดในการวิจัยของอาจารย์จะให้ความสนใจที่การทำ raw material ที่ได้จากพืช ซึ่งอาจได้มาทั้งจากการสะกัดเอาจากพืชนั้นโดยตรงหรือการเพาะเลี้ยงเซลล์เป็น callus ก็ได้

การได้สารสำคัญจากทั้งสองวิธีนั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามการเพาะเลี้ยงเซลล์จะได้เปรียบในเรื่องของการไม่ต้องพึ่งพาฤดูกาล รวมถึงจะให้สารที่ต้องการได้มากกว่าโดยไม่ถูกรอบกวนจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือสภาวะอื่นๆ มี่เกิดขึ้นกับพืชที่โตตามปกติ อย่างไรก็ตาม key ของการได้สารสำคัญที่ต้องการก็ขึ้นกับอาหารที่ใช้เลี้ยง callus เป็นหลัก แม้จะทำให้เนื้อเยื่อโตไวได้ แต่ก็อาจไม่ให้ผลิตมาก จึงต้องมีการวิจัยถึงอาหารที่เหมาะสมเช่นกัน โดยการทดลองทั้งหมดจะทำในสเกลเล็กๆ ใน lab ที่ออกแบบเอง เพื่อให้พร้อมต่อการยกระดับไปเป็นการ production อย่างไรก็ตามการจะยกระดับก็คงมีโจทย์อื่นๆ ให้เข้ามาแก้อีกแน่นอน

ท้ายที่สุดอาจารย์ได้พูดถึง green extraction ซึ่งเป็นการวิจัยการสะกัดสารสำคัญโดยไม่ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักการ supercritical fluid extraction ของ carbondioxide ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะทำให้ได้ลักษณะและปริมาณที่จำเพาะ และเลียนแบบได้ยาก และอาจารย์ยังได้เสริมว่า หลักการ supercritical fluid เป็นส่วนที่เราได้เรียนมาแต่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะได้ใช้จนได้มีโอกาสแบบนี้ นั่นหมายความว่าการที่เราได้เรียนอะไรไปไม่ได้แปลว่ามันจะไม่ได้ใช้ แค่ว่าเราจะมีโอกาสที่ต้องใช้มันรึเปล่า

หัวข้อที่ 5 Chemical test for alcohol-containing product

โดย ผศ.ดร. ศุภกาญจน์ ชำนิ

ในส่วนนี้จะเริ่มต้นถึงการบรรยายองค์ความรู้เกี่ยวกับ alcohol gel สำหรับฆ่าเชื้อ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัส covid 19 โดยสารหลักที่นำมาผลิตมักจะมี 2 อย่าง ได้แก่ isopropyl alcohol ซึ่งมีความสามารถในการกำจัด virus และ fungi สูงแต่ทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจได้ง่าย และ ethyl alcohol ซึ่งมีความสามารถในการกำจัด bacteria สูง อีกทั้งมีผลต่อการระคายเคืองที่ต่ำ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการจะฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ alcohol gel จะต้องมีความเข้มข้นมากกว่า 70% แต่บางยี่ห้อกลับมีไม่ถึง อีกทั้งมีการปนเปื้อนของ methyl alcohol ทั้งจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้ผลิต ซึ่งมีความสามารถในการกำจัดเชื้อต่ำ และมีความเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์สูง ทั้งต่อทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบการมองเห็น ซึ่งมีงานวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลกว่ามีผู้เสียชีวิตจากการได้รับ methyl alcohol จากการใช้เจลล้างมือ

การจะแยก methanol และ ethanol จากคุณสมบัติทางกายภาพโดยรวมนั้นทำได้ยากเนื่องจากมีความใกล้เคียงกันมาก จึงต้องมีเทคนิคที่ใช้ในการแยกสารสองประเภทนี้ออกจากกัน ได้แก่

1. Burning test การเผาไหม้สารสองประเภทนี้จะให้สีของเปลวที่แตกต่างกัน รวมถึงมีระยะในการติดไฟที่นานไม่เท่ากัน แต่ก็เป็นวิธีที่อันตรายที่อาจทำให้เกิดการระเบิดได้

2. Chemical test เป็นวิธีที่เร็วและให้ผลที่ค่อนข้างชัด เพียงแต่อาจเกิด false positive จากเทคนิคการทดลองที่ไม่ดีได้ จึงอาจจะต้องอาศัยการสอบมวนจากวิธีอื่นเข้าร่วมด้วย

3. Gas chromatography เป็นวิธีในการจำแนกที่แม่นยำที่สุด แต่ต้องอาศัยเครื่องมือในการใช้งาน

ในส่วนของอาจารย์เองได้เล็งเห็นว่าวิธีการ chemical test เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดที่จะออกแบบเป็นชุดตรวจสำหรับครัวเรือนทั่วไป จึงได้เริ่มการสำรวจความรู้ทั้งที่มีอยู่ ทั้งที่เป็นความรู้ใหม่เพื่อที่จะให้ทำในสิ่งที่ต้องการจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ อีกทั้งจะต้องสำรวจว่าในตลาดข้างนอกมีชุดตรวจแบบใดอยู่บ้าง เพื่อจะได้สร้างนวัตกรรมที่แตกต่างและแก้ปัญหาให้สังคมได้

จากการค้นหาก็พบว่ามีทั้งการใช้ iodoform, การใช้ betadine กับโซดาไฟ ซึ่งมีความอันตราย, การใช้ sodium dichromate ซึ่งจะต้องตรวจผ่านกลิ่นแต่เจลล้างมือมักจะแต่งกลิ่นมาด้วยทำให้ตรวจได้ยาก และวิธีการใช้ด่างทับทิมกับน้ำส้มสายชูแต่จะต้องเป็นการเตรียมสารที่ใช้ทันทีที่ผสมเพื่อป้องกันผลคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามคู่แข่งที่ดูจะเหมาะสมที่สุดคือชุดตรวจ alcohol ของกรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ความแม่นยำจนถึงความเข้มข้น alcohol 2% และดูผลการวัดได้ชัดเจน แต่มีข้อเสียที่ใช้งานได้ยากเพราะต้องมี reagent ถึง 7 ชนิด

อาจารย์จึงได้ค้นหาสารที่จะมาแก้ปัญหาความยุ่งยากดังกล่าว จนได้พบกับสารที่เป็นสีผสมอาหารซึ่งสามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาวะต่างๆ และนำมาดัดแปลงเป็นชุดตรวจ alcohol ซึ่งใช้งานได้ง่าย ปลอดภัย และใช้ในการแยกชนิดของ alcohol และบ่งบอกถึงปริมาณได้ แม้จะไม่ละเอียดเท่าของกรมวิทยาศาสตร์แต่ก็เพียงพอต่อการใช้ของครัวเรือน อย่างไรก็ตามกว่าจะยกระดับมาถึงการ marketing ได้ ก็ต้องผ่านการออกอนุสิทธิบัตร, การ field test ทดสอบกับ alcohol gel หลายยี่ห้อที่มีอยู่ตามท้องตลาด และที่สำคัญที่สุดคือการทดสอบจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยทวนสอบด้วย gas chromatograhpy เพื่อออก certificate ว่าชุดตรวจสามารถจำแนกประเภท alcohol ได้อย่างแม่นยำแท้จริง

โดยสรุปแล้วแม้เรื่องราวของอาจารย์และผู้บรรยายแต่ละท่านจะมาจากหลากหลายสาขาและประสบการณ์ แต่ก็มีสิ่งคล้ายๆ กันกันในแง่ของการทำนวัตกรรม เช่น แนวคิดขั้นตอนในการทำวิจัยพัฒนาก่อนที่จะบกระดับไปยัง production และ marketing , การสำรวจตลาดและการสังเกตุปัญหาเพื่อสร้างความแตกต่าง , การกล้าที่จะลงมือทำและเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ และ การรู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของทั้งของตัวเองและของนวัตกรรมที่สร้างขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนได้ในวันข้างหน้า

Leave a Comment